Yamaha NMAX155 @ปราสาทพนมรุ้ง
ทริปนี้เยี่ยมชมปราสาทหินแห่งความศรัทธา
ทริปนี้ถือเป็นความพิเศษอีกครั้งหนึ่งเมื่อทีมงานไซเคิลโรดเป้าหมายการเดินทางในครั้งนี้คือการขับขี่รถจักรยานยนต์จากกรุงเทพเดินทางไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ เที่ยวปราสาทพนมรุ้งเพราะที่นี่ถือเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางมาเยี่ยมชมตัวปราสาทและยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานเกี่ยวกับเรื่องการบูชาและความศรัทธาของบรรพบุรุษในสมัยก่อน ซึ่งมีการสืบต่อความเชื่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน
รุ่งเช้าของการออกเดินทางวันแรกนั้นพวกเราออกเดินทางจากสายไหมไปทะลุออกไปตามเส้นทางวังน้อย สระบุรีจนเข้าสู่ถนนหลักสายมิตรภาพ การเดินทางในช่วงแรกนั้นแม้ว่าอากาศจะร้อนแดดจะแรง แต่ทุกคนก็เตรียมตัวมีเป็นอย่างดีเพราะจากการเช็คพยาการณ์อากาศแล้วพวกเรามีโอกาสเจอฝนระหว่างทางได้มากถึง 40 % ทุกคนจึงจัดเตรียมอุปกรณ์ชุดเสื้อกันฝันเพื่อการเดินทางจะได้ต่อเนื่องไม่ผิดเวลาที่วางแผนไว้ก่อนหน้ามากนัก ด้วยระยะทางรวมที่ประเมินไว้คือ 400 กิโลเมตรกับความเร็วเดินทางที่ประมาณ 100 + และแวะทานมื้อเที่ยงระหว่างทาง จึงทำให้ไปถึงเขตตัวจังหวัดบุรีรัมย์ในช่วงบ่ายแก่ๆ โชคที่ที่ครั้งนี้แม้ว่าในบางช่วงนั้นจะเห็นก้อนเมฆทะมึนอยู่ทางด้านข้าง แต่ก็รอดจากสายฝนไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่เขตจังหวัดบุรีรัมย์แล้วพวกเราจึงเดินทางไปต่อโดยมีเป้าหมายที่ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งมีระยะทางอีกไม่ไกลมากน่าจะประมาณสัก 60 กิโลเมตรจากตัวเมือง สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นหนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) คำว่า พนมรุ้ง นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่ ปัจจุบัน ปราสาทหินพนมรุ้งกำลังอยู่ในเกณฑ์กำลังพิจารณาเป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับ ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ และถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์
ปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวะ ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ดังนั้นเขา
พนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ องค์ประกอบและแผนผังของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธานซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่า พลับพลา อาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้าหรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน
โดยในการเดินทางไปที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งโดยใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล สามารเลือกเดินทางได้ 2
เส้นทางออกจากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ คือเดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง)
เป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สีคิ้ว-อุบลราชธานี) ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก ประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรืออีกเส้นทางคือเดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) เป็นระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอประโคนชัย จะเห็นทางแยกที่จะไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 21 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2075 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตาหากจะเดินทางโดยใช้บริการรถโดยสารจากขนส่งบุรีรัมย์ ก็ให้ขึ้นรถโดยสารสายบุรีรัมย์-จันทบุรี พอถึงที่หมู่บ้านตะโก แล้วจึงลงจากรถ จากนั้นจะมีรถสองแถววิ่งไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือไม่ก็นั่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้ (ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
#Yamaha #NMAXConnected
#CycleRoad #ทีมงานไซเคิลโรด