Honda E-CLUTCH 650 Honda E-CLUTCH 650 Series ครั้งแรกของโลก CBR650R CB650R การเปลี่ยนเกียร์ที่ผสานกันทั้งสนุกและสบาย
การทดสอบระบบอีคลัทช์ครั้งแรกของโลกที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ที่งานนี้บอกเลยว่าเป็นศูนย์รวมนักทดสอบรถมอเตอร์ไซค์ที่อยากจะได้ลองสัมผัสก่อนใครและยังเป็นการ Test Ride ครั้งแรกของโลกอีกด้วย ซึ่งทีมงานไซเคิลโรดก็ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้ ต้องบอกเลยว่ามีความตื่นเต้นมาก ๆ ที่จะได้ลองสัมผัสเทคโนโลยีที่รถจักรยานยนต์ฮอนด้า พัฒนาเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้เปิดประสบการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม
โดยในช่วงเช้านั้นหลังจากที่ทุกคนเดินทางมาถึงสนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิตกันครบแล้วพี่ๆ เจ้าหน้าที่แจ้งให้ทุกคนขึ้นห้องทางด้านบนเพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับตัวรถกันก่อน และยังอธิบายถึงหลักการและการทำงานของระบบอีคลัทช์อย่างละเอียด ซึ่งต้องบอกว่าเจ้าระบบนี้มันถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ตั้งแต่นักขี่รถสปอร์ตหน้าใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้คลัทช์มือสักเท่าไหร่นัก จนไปถึงนักขับขี่มือโปรที่จะขี่รถในสนามแข่งและเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างสมูทและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพราะลดขั้นตอนในช่วงของการกำคลัทช์ออกไปตั้งแต่ในช่วงออกตัว และที่สำคัญยังมีการปรับเซ็ทค่าได้ 3 ระดับ สำหรับสไตล์การขับขี่ของแต่ละคนหรือตามสถานการณ์นั้นๆ โดยทางด้านแฮนด์ด้านซ้ายบริเวณตำแหน่งนิ้วโป้งจะมีสวิทย์ 4 ทิศทางเพื่อให้สามารถเข้าสู่เมนูในการตั้งค่าได้โดยง่ายและรวดเร็ว
ระบบอีคลัทช์ ที่ไม่ต้องกำคลัทช์ตั้งแต่ออกตัว เพราะมีชุดมอเตอร์ทำหน้าที่หมุนส่งกำลังเป็นแรงกดไปยังแผ่นคลัทช์โดยตรง ซึ่งชุดมอเตอร์นี้จะประกอบไปด้วยมอเตอร์จำนวน 2 ตัว ทำงานพร้อมกันเพื่อถ่ายทอดแรงบิดไปยังชุดฟันเฟืองเพื่อสร้างแรงกดไปที่แผ่นคลัทช์ เปรียบเสมือนผู้ขับขี่กำลังกำคลัทช์ และเมื่อมีการบิดคันเร่งเซ็นเซอร์ที่ลิ้นปีกผีเสื้อจะส่งสัญญาณไปที่กล่องควบคุมเพื่อให้ชุดมอเตอร์อีคลัทช์ค่อยๆ หมุนผ่อนแรงกดคลัทช์ลง การออกตัวจึงเป็นไปอย่างนุ่มนวล
ชุดมอเตอร์ที่ทำงานได้ฉับไว ผ่านการควบคุมจากกล่อง ECU สองใบ แยกการทำงานอย่างอิสระ เพื่อให้การทำงานของกล่องสมองกลนั้นทำงานได้อย่างอิสระ จึงแยกกล่องควบคุม ECU ออกมาต่างหากอีก 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่ในการออกคำสั่งชุดมอเตอร์อีคลัทช์ให้ทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยจะมีชุดเซ็นเซอร์หลายชุดทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์จากตัวชิพเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ตรงตำแหน่งคันเกียร์ตรงเท้าซ้าย เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ตรงก้านคลัทช์ เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ตรงตำแหน่งลิ้นปีกผีเสื้อ เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ตรงชุดเฟืองทดแรงตรงมอเตอริอีคลัทช์ นอกจากนี้ยังมีเซ็นเซอร์ตรงล้อรถเพื่อตรวจจับความเร็วแบบเรียลไทส์ เพื่อให้กล่อง ECU ของอีคลัทช์นั้นได้ประมวลผลได้อย่างแม่นยำ ทั้งรอบเครื่องยนต์ ความเร็ว ที่ต้องมีความสัมพันธ์กัน ทำให้ทุกการขับขี่ไม่ว่าจะใช้งานทั่วไปบนถนน หรือแม้กระทั่งในสนามแข่ง ก็สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้โดยที่ชุดมอเตอร์อีคลัทช์จะทำงานอย่างแม่นยำ ไม่มีอาการกระชาก กระตุก ทำงานผสานกันกับเครื่องยนต์สี่สูบเรียงพิกัด 650 ซีซี แม้กระทั่งในย่านที่ความเร็วสูงมากกว่า 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบอีคลัทช์ก็ยังทำงานได้อย่างแม่นยำ
ชุดเซ็นเซอร์ตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้ทุกการขับขี่นั้น อีคลัทช์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะกล่องควบคุมต้องรับรุ้สถานะแบบเรียลไทส์ การติดตั้งเซ็นเซอร์ในจุดต่าง ๆ นั้นถือเป็นความสำคัญที่จะช่วยให้กล่องสมองกลนั้นทำงานได้อย่างถูกต้องแม้ว่าจะใช้ความเร็วย่านสูงอยู่ก็ตาม นอกจากนี้ที่ตำแหน่งเรือนไมล์ตัวเลขระดับเกียร์นั้นยังจะมีลูกศรขึ้นหรือลงแจ้งเตือนกระพริบหากผู้ขับขี่นั้นใช้รอบเครื่องที่ไม่สัมพันธ์กันกับความเร็วขณะขับขี่ โดยผู้ขับขี่ยัง สามารถปรับตั้งค่าการทำงานของอีคลัทช์ได้ 3 ระดับ และยังปิดการทำงานได้ โดยเพียงจอดรถให้นิ่งสนิทแล้วเลือกปรับสวิทย์ควบคุมที่อยู่ทางนิ้วโป้งแฮนด์ด้านซ้าย โดยสามารถเลือกปรับระดับความแอคทีพของการปล่อยคลัทช์ได้แยกอิสระจากกันทั้งการชิพอับเกียร์ และการชิพดาวน์เกียร์ เพื่อการใช้งานที่มีความต้องการของผู้ขับขี่ที่สไตล์ไม่เหมือนกัน
โดยการทำงานของระบบอีคลัทช์นั้นจะหยุดการทำงานลงชั่วคราวทุกครั้งที่ผู้ขับขี่บีบคลัทช์เองระบบจะหยุดการทำงาน 2 วินาทีขณะรถจอด และหยุดการทำงาน 5 วินาที ขณะที่ใช้ความเร็ว ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ผู้ขับขี่อยากสนุกด้วยตัวเองเมื่อต้องขับขี่ที่ย่านความเร็ว และระบบอีคัลทช์จะกลับมาทำงานเองโดยอัตโนมัติทุกครั้ง เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่นั้นได้รับความสะดวกสบายอย่างสูงสุด ส่วนทางด้านของพละกำลังเครื่องยนต์แบบเครื่องยนต์สี่สูบเรียงมีอัตราเร่งที่จัดจ้านอยู่แล้วเมื่อทำงานผสานกับการเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วนั้นทำให้ทุกครั้งที่ได้ขับขี่จะมีทั้งความสนุก และความสะดวกสบายกว่ารถเกียร์สปอร์ตทั่วไป และยังเป็นระบบที่ออกแบบมาเหมาะสำหรับคนที่ยังขี่รถคลัทช์ไม่คล่องอีกด้วย ทำให้สามารถขับขี่รถสปอร์ตได้เหมือนกับคนที่ขี่มานานและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเมื่อต้องขับขี่ไปบนถนนที่มีการจราจรหนาแน่น
โดยรวมแล้วเจ้าระบบอีคลัทช์นี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ขับขี่ใช้งานทั่วไปได้รับความสบายในการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะการขี่รถเกียร์สปอร์ตไปในเมืองหลวง ที่มีการจราจรแอดอัด จำเป็นต้องหยุดรถบ่อยจึงทำให้ระบบอีคลัทช์นั้นทำหน้าที่กำคลัทช์แทนผู้ขับขี่ตั้งแต่เริ่มเปิดสวิทย์กุญแจ และด้วยระบบประมวลผลอันชาญฉลาด หากนำไปขับขี่ในรูปแบบเรซซิ่งนั้นก็ยังช่วยให้ผู้ขับขี่ลดขั้นตอนทั้งในช่วงลดความเร็วก่อนเข้าโค้ง รวมไปถึงการเร่งเครื่องยนต์ได้อย่างต่อเนื่องจนสามารถทำเวลาต่อรอบได้ดีกว่ารถเกียร์สปอร์ตทั่วไป
|