ล้อและยาง - เรื่องพื้นฐานของมอเตอร์ไซค์ ล้อและยางเป็นส่วนเดียวของรถมอเตอร์ไซค์ที่สัมผัสกับพื้นถนนและรับน้ำหนักทั้งตัวรถรวมถึงผู้ขับขี่อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังต้องรับแรงบิดที่เกิดจากบังคับเลี้ยวและแรงกระชากของเครื่องยนต์ด้วย ในส่วนของล้อประกอบด้วยดุมล้อกับวงล้อซึ่งสัมผัสกับยางและเชื่อมกับดุมล้อด้วยซี่ลวด และวงล้อที่หล่อจากอะลูมิเนียมทั้งหมดที่เรียกว่า “ล้อแม็ก” ยางปัจจุบันมีทั้งชนิดที่มียางในและยางเรเดียล (ไม่มียางใน) ซึ่งทั้ง 2 ชนิด มีให้เลือกใช้กัน และเพื่อเป็นการตอกย้ำให้กับผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ ดังนั้นเราจึงได้นำเรื่องราวของการตรวจสอบล้อและยางของรถมอเตอร์ไซค์มาฝากกัน... การตรวจสอบลมยาง ลมยางจะค่อยๆ ซึมออกทีละน้อยๆ ตลอดเวลา ดังนั้นการตรวจสอบลมยางอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ ข้อสำคัญของการวัดลมยางคือ ต้องกดเกจ์วัดลมยางกับ “จุ๊บ” สูบลมยางให้แน่น หากลมยางต่ำเกินไปแก้มยางจะมีการบิดเบี้ยวมากทำให้เกิดแรงต้านการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าและยังทำให้กินน้ำมัน แต่หากท่านเติมลมยางเติมเกินไปก็จะทำให้หน้ายางสัมผัสกับพื้นน้อยจนเกินไป ทำให้ดอกยางแนวกลางสึกหรอและยังทำให้การยึดเกาะถนนลดลง ดังนั้นผู้ขับขี่ต้องวัดลมยางเป็นประจำ และการวัดลมยางหลังจากที่ขับขี่มาจะได้ผลไม่ถูกต้อง เพราะหน้ายางที่สัมผัสกับพื้นถนนจะเพิ่มความร้อนให้กับอากาศภายในยาง สำหรับแรงดันลมที่เหมาะสมคือ ล้อหน้า 28 ปอนด์-นิ้ว ล้อหลัง 32 ปอนด์-นิ้ว หรือตามค่าที่ผลิตกำหนด ความเสียหายของดอกยางจะมีผลต่อความสามารถในการเกาะถนน ถ้าดอกยางสึกหรอลงไปเกินกว่า 1 มม. จะมีสัญลักษณ์ที่เป็นมาร์คอยู่ และควรตรวจสอบเช็ครอยถลอก ชำรุด สึกหรอ ถูกของมีคมตำ และความสึกของดอกยางที่เหลือจะต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ นอกจากการใช้งานแล้วการจอดทิ้งไว้ให้ยางถูกน้ำหนักกดลงพื้นตลอดเวลาอาจทำให้แก้มยางแตกเป็นรอยเล็กๆ และมองไม่เห็นมาร์ค การตรวจสอบวงล้อ ในการขับรถด้วยความเร็วสูงจะมีแรงบิดมากระทำต่อรถในทิศทางต่างๆ ตลอดเวลา และถ้าล้อรถเกิดเบี้ยวไปเพียงเล็กน้อยจะมีผลต่อการบังคับรถ และเกิดอาการสั่นสะท้านขึ้นมาที่แฮนด์ การตรวจสอบรอยขีดข่วนและรอยชำรุดบนล้อสามารถทำได้ง่ายๆ โดยสังเกตด้วยตา ส่วนการตรวจสอบการบิดของล้อทำได้โดยการใช้มือหมุนล้อแล้ววัดด้วยไดอัลเกจ์ แต่ถ้าไม่มีไดอัลเกจ์ก็สามารถวัดได้ด้วยการใช้ไขควงปากแบนแตะเบาๆ ที่ขอบล้อ แล้วใช้มือหมุนล้อ ถ้าเกิดการสั่นที่ไขควงเกินกว่า 2–3 มม. แสดงถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนล้อแล้ว สำหรับล้อแบบซี่ลวด นอกจากตรวจสอบการบิดเบี้ยวของล้อแล้ว ต้องตรวจสอบการหลวมของซี่ลวดล้อด้วย ซึ่งทำได้ไม่ยาก โดยการใช้ไขควงเคาะที่ซี่ลวดที่ละเส้นเบาๆ ซี่ลวดที่หลวมจะมีเสียงต่างจากเส้นอื่นๆ และถ้าซี่ลวดหลวมให้ใช้ประแจขันซี่ลวดขันตรงขั้วซี่ลวดให้แน่น ขณะเครื่องยนต์ทำงาน การสั่นสะเทือนจะทำให้น็อตทุกตัวหลวมได้ ถ้าขณะขับขี่น็อตเหล่านั้นอาจหลุดตกหล่นหายไป อาจจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ ดังนั้นการขันน็อตให้แน่นจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และการขันน็อตแต่ละหัวหากมีประแจทอร์คขันก็จะดีมาก อย่างที่บอกกันไว้ว่า ล้อและยางแป็นส่วนเดียวที่แตะพื้นอยู่ในขณะที่เราขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ เพราะฉะนั้นไม่ควรมองข้ามความสำคัญ การตรวจสอบล้อ เป็นเรื่องที่หลายๆ คนไม่คอยเอาใจใส่ จึงเกิดอุบัติเหตุเพราะล้อบิดหรือชำรุด โดยเจ้าของหรือผู้ขับขี่ไม่ได้ดูแล ดังนั้นผู้ที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์อยู่ควรตรวจเช็ควงล้อและย างเป็นประจำเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง |